จัดทำโดย
นายณัฐภพ ขอสีกลาง เลขที่ 26
นายทิวัตถ์ เมืองแดง เลขที่ 27
นักเรียนชั้น ม.6/1

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามครูเสด


สงครามครูเสด (The Crusades) คือ สงครามระหว่างศาสนา ซึ่งอาจหมายถึงสงครามระหว่างชาวคริสต์ต่างนิกายด้วยกันเอง หรือชาวคริสต์กับผู้นับถือศาสนาอื่นก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักหมายถึงสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ ในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 13

ในตอนเริ่มสงครามนั้นชาวมุสลิมปกครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่ ดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญของสามศาสนาได้แก่ อิสลาม ยูได และ คริสต์ ในปัจจุบันดินแดนแห่งนี้คือ ประเทศอิสราเอล หรือ ปาเลสไตน์

ชาวมุสลิมครอบครอง เมืองนาซาเรธ เบธเลเฮม และเมืองสำคัญทางศาสนาอีกหลายเมือง ในยุคของคอลีฟะหฺอุมัร (634-44) ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาและการเมืองของอาณาจักรอิสลามในยุคนั้น

บทสรุปของสงครามในครั้งนั้นคือกองทัพมุสลิมสามารถยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนจากชาวคริสต์ได้ และขับไล่ผู้รุกรานต่างดินแดนออกไป ซึ่งยังคงดำรงชาติมุสลิมสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

สาเหตุของสงครามครูเสด

  • เนื่องจากพวกคริสต์กลุ่มหนึ่งมีความเชื่อกันว่า โลกนี้จะถึงการอวสานเมื่อครบ ค.ศ. 1000 เรียกว่า Millennium และเชื่อว่าพระเยซูพร้อมด้วยสาวกจะเสด็จมาโปรดชาวโลกในวันนั้น พวกคริสเตียนจำนวนมากจึงได้ละถิ่นฐานบ้านช่องของตนเดินทางไปชุมนุมกันในปาเลสไตน์ เพื่อรอวันโลกแตก แต่เมื่อถึง ค.ศ. 1000 โลกไม่ได้อวสานตามที่พวกนี้คิดไว้ ประกอบกับพวกคริสต์จำนวนมากไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยดีจากพวกสัลยูก ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในเวลานั้น ทำให้พวกคริสเตียนนี้เมื่อกลับบ้านไปแล้ว(คือทวีปยุโรป) ต่างพกเอาความเคียดแค้น ไปเล่าเรื่องแล้วแต่งเติมสิ่งที่ได้ประสบในปาเลสไตน์ให้พวกคริสเตียนด้วยกันฟัง มีคริสเตียนคนหนึ่ง ชื่อ ปิเตอร์ ได้ฉายาว่า ปิเตอร์ เดอะ เฮอร์มิต (ปิเตอร์ นักพรต ถือไม้เท้าท่องเที่ยวไปในเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ได้ป่าวประกาศข่าวเรื่องที่พวกคริสเตียนไปอยู่ในปาเลสไตน์เพื่อรอวันโลกแตก แล้วได้รับการข่มเหงจากพวกสัลยูก พร้อมทั้งได้ปลุกระดมให้พวกคริสเตียนรวมกำลังกันไปตีปาเลสไตน์กลับคืนมา)
  • สัลยูกเป็นพวกตุรกีสายหนึ่ง กำลังรุ่งเรืองอำนาจ และมีอิทธิพลเหนือเคาะลีฟะฮ.ของอับบาสิยะฮ. ในกรุงแบกแดด พวกนี้ปกครองประเทศปาเลสไตน์ และมีอาณาเขตคุกคามกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพวกคริสต์นิกายออร์ทอด๊อกซ์ ซึ่งนิกายนี้ไม่ถูกกับนิกายคาธอลิค แต่เมื่อถูกคุมคามจากพวกสัลยูก จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากพวกคริสต์นิกายคาธอลิค ซึ่งโป๊ปแห่งกรุงโรมเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะแผ่อิทธิพลครอบคลุมพวกคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ได้ จึงถือข้อนี้เป็นสาเหตุอันหนึ่งในการประกาศสงครามครูเสด เพื่อทำลายหลักการของคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ให้หมดสิ้นไป
  • พวกคริสต์ ในยุโรปขณะนั้น ได้มีแนวความคิดร่วมกันว่า พลเมืองทั่วทั้งโลกนี้ต้องนับถือศาสนาคริสต์ การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ถือเป็นครูเสดประการหนึ่ง ซึ่งพวกนี้ได้มีการพิมพ์เอกสารหรือหนังสือใส่ร้ายศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม และได้กระทำต่อมานับร้อย ๆ ปี แม้หลังจากสงครามครูเสดแล้วก็ตาม ในโรงเรียนต่าง ๆ ของพวกมิชชั่นนารี จะมีตำราเรียนหลายชนิดให้ร้ายศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เพราะพวกคริสต์พ่ายแพ้สงครามครูเสดในที่สุดนั่นเอง ถึงแม้จะรบกันกว่า 150 ปี ซึ่งเพิ่งจะรู้ความจริงของอิสลาม และรู้ว่าถูกพวกคริสต์ด้วยกันเองหลอกมาตลอด เมื่อไม่กี่ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง เพราะโลกได้มีการติดต่อกันอย่างกว้างขวางขึ้น มีการชุมนุมผู้แทนประเทศต่าง ๆ และพบปะกันมากขึ้น
  • เนื่องจากพวกสัลยูก คุมปาเลสไตน์และเอเชียน้อย ทำให้พวกอิตาลีเดินทางไปมหาสมุทรอินเดียไม่สะดวก พวกพ่อค้าแห่งเมืองเวนิสและเจนัวก็กำลังประสบปัญหาในการค้าขาย จึงอยากให้มีสงครามขึ้น เพื่อพวกตนจะได้ทำการค้าคล่อง

ประวัติศาสตร์ของอิสลาม

ประวัติศาสตร์ของอิสลามหลังจากสมัยคุละฟาอุร.รอชิดีน (หมายถึงเคาะลีฟะฮ 4 ท่านแรก คือ อบูบักร. อุมัร. อุมาน และอะลี) เต็มไปด้วยปัญหาความยุ่งยาก มีเจ้าปกครองกันหลายแคว้น ประกอบไปด้วยชนต่างชาติต่างภาษาตลอดทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล บุคคลเหล่านี้ได้มารวมกันภายใต้แนวความคิดคือ "ละอิลาฮะ อิลลัลลอฮ มุหัมมะดุร-รสูลุลลอฮ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ และมุฮำมัดเป็นรสูลของพระองค์" ศาสนาอิสลามได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของชนหลายประเทศหลายชาติ แต่ในบางครั้งก็เผยแพร่เข้ามาผิดที่ ผิดเวลา การมาถูกหรือมาผิดนี้ไม่ใช่เพราะศาสนาอิสลาม แต่เพราะคนหรือผู้ที่นำเข้ามาเผยแพร่นั้นบางคนเป็นเจ้าครองแคว้น เป็นนักรบที่เก่งกล้า ทารุณ โหดร้าย ซึ่งคนเช่นนี้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลกับการรบของพวกเขา แต่บังเอิญถ้าบุคคลประเภทนี้เป็นมุสลิม ศาสนิกชนอื่นก็ว่าให้ร้ายหาว่าศาสนาอิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ

แต่ความจริงแล้วอิสลามไม่ได้มีหลักการให้เผยแพร่ศาสนาด้วยการทำสงคราม อย่างเช่นสงครามครูเสดของพวกคริสเตียน อย่างกรณี เมื่อ 50 ปีก่อน พวกมุสลิมีนที่ไปทำพิธีหัจญ์ยังถูกพวกโจรมุสลิมีน(ชาวมุสลิมด้วยกันเอง) ในคาบสมุทรอาหรับ ปล้นสะดม ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีเช่นนี้เป็นเรื่องการรบพุ่ง การต่อสู้ของบุคคล ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่พวกคริสเตียนที่เดินทางมาปาเลสไตน์ในเวลานั้น อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือความสะดวกต่าง ๆ แต่เรื่องราวเช่นนี้กลับถูกต่อเติมจนเป็นจนกลายเป็นเรื่องร้ายแรง ก่อให้เกิดสงครามครูเสดขึ้น

คำว่า "ครูเสด" หมายถึง สงครามศาสนาที่พวกคริสเตียนได้กระทำต่อมุสลิมีน ('มุสลิมีน' เป็นคำพหูพจน์ของ 'มุสลิม' หมายถึง ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) เป็นเวลานานกว่า 150 ปี เพื่อทำลายศาสนสถานต่างๆ ของคริสตจักร โดยเฉพาะที่ในเมืองเบธเลแฮม (บัยตุลละหัม) และเยรูซาเล็ม โดยที่พวกนี้มีเครื่องหมายกางเขนติดไว้ ครูเสดแปลว่า ติดด้วยเครื่องหมายกางเขน ซึ่งต่อมาคำว่าครูเสดนี้ ใช้หมายถึงสงครามทั่ว ๆ ไป ที่พวกคริสต์ต่อต้านพวกนอกศาสนาตามแต่สังฆนายก (Bishop) ของโรมจะบัญชา


อย่างไรก็ตามเมืองเหล่านี้บางเมืองก็เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมด้วย มุสลิมเชื่อว่า นบีมุฮัมมัดได้เดินทางจากมัสยิดอัลอักซอเมืองเยรูซาเล็ม ขึ้นสู่ชั้นฟ้า มัสยิดโดมหินก็ตั้งอยู่ที่นั่น และ เมืองเยรูซาเล็ม ก็มีความสำคัญเป็นอันดับสามของโลกมุสลิมแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายใต้การปกครองของพวกคริสเตียน เมื่อนบีมุฮัมมัดยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนส่วนแรกๆ ที่ถูกมุสลิมยึดครอง แต่เคาะลีฟะฮ. ของมุสลิมก็ยอมให้ชาวคริสเตียนเดินทางมาแสวงบุญยังแผ่นดินเหล่านี้

แต่ใน ค.ศ. 1055 เมื่อพวกเซลจูคเติร์กเข้ามายึดครองเมืองแบกแดด พวกสุลต่านไม่ได้ปฏิบัติต่อชาว คริสเตียนเหมือนเช่นเคย พวกคริสเตียนในยุโรปจึงโกรธมาก ดังนั้น ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1905 โป๊ปเออร์บานที่ 2 (Pope Urban II)ได้เรียกประชุมคณะสงฆ์ที่ปลาเซ็นติอา แต่การประชุมไม่ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายในทันที จึงได้เรียกประชุมขึ้นใหม่อีกที่เคลอร์มองต์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1095 โป๊ปได้ประกาศให้ทำสงครามครูเสดต่อ "พวกนอกศาสนา" (ซึ่งพวกคริสเตียนในเวลานั้นหมายถึงบรรดามุสลิมีนโดยเฉพาะ) โป๊ปได้ใช้กลอุบายวิธีต่าง ๆ เพื่อปลุกระดมให้พวกคริสเตียนเข้าร่วมในสงครามครูเสด โดยประกาศว่า "ผู้ใดถือไม้กางเขนหรือประดับไม้กางเขนเพื่อไปในสงครามครูเสด ย่อมถูกยกเว้นจากการถูกฟ้องร้องเรื่องหนี้สิน ไม่ต้องเสียภาษี และบุคคลภาพผู้นั้นอยู่ในพิทักษ์ของศาสนจักร ถูกไถ่บาปทั้งหมดและจะได้เข้าสวนสวรรค์อันสถาพร" การเริ่มรณรงค์ดังกล่าวนี้เองเป็นที่มาของสงครามศาสนาหรือ "สงครามครูเสด"สงครามครูเสดเพื่อยึดครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรก

ปี ค.ศ. 1097 พวกครูเสดได้จัดกองทัพใหม่ โดยมีพวกเจ้าครองนครต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเข้าร่วมด้วย และมีกอดเฟรย์แห่งบุยยอง (Godfrey of Buillon) เป็นแม่ทัพเดินทางมาทางคอนสแตนติโนเปิ้ล กษัตริย์อเล็กซิสได้จัดให้พวกนี้ข้ามช่องแคบโฟรัสไปยังดินแดนเอเชียน้อย เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้เข้าเมือง บ้านเมืองจะถูกทำลาย

เดือนพฤษภาคม 1097 กองทัพครูเสดยกทัพมาเมืองนิซีอา สุลฏอนผู้ปกครองเมืองยอมเปิดประตูเมืองให้ จึงรอดพ้นจากการถูกทำลาย หลังจากนั้นพวกครูเสดจึงยกทัพไปเมืองอันติออก Antioch(อันตากิยะฮ) ซึ่งต้องเดินทางเป็นระยะทางที่ไกล พวกไพร่พลจึงล้มตายกลางทางเสียเป็นส่วนใหญ่ ล้อมเมืองอันติออกได้ 9 เดือน จนเสบียงเริ่มร่อยหรอลง ต้องกินเนื้อพวกเดียวกัน (คือเนื้อศพ) พวกครูเสดทำการทารุณกรรมต่อชาวเมืองอันติออกอย่างมาก ในที่สุดแม่ทัพพวกสัลยูก ที่ชื่อ กัรบุฆา ต้องยอมแพ้ เพราะว่ามีการทรยศจากพวกเดียวกันด้วย คือมุสลิมชาวอาร์มิเนียน ชื่อ ฟิรูซ(อาหรับเรียกว่าบิหรูซ) ได้หย่อนเชือกลงรับพวกครูเสดขึ้นมายึดป้อม แล้วเปิดประตูเมืองให้พวกครูเสดเข้ามาตะโกนว่า "Dier le veut" ฆ่าฟันผู้คนทั้งหญิงแก่ แม่หม้าย เด็ก หญิงสาว รวมทั้งทำลายมัสญิด อาคาร บ้านเรือนเสียหาย

หลังจากยึดเมืองอันติออกแล้ว พวกครูเสดได้เดินทัพไปยังมะอัรร็อต อัน-นุอมาน (Marra tun Numan) ซึ่งเป็นเมืองที่รุ่งเรืองเมืองหนึ่งของซีเรีย ชาวเมืองถูกฆ่าไม่ต่ำกว่า 100,000 คน โดยวิธีสับเป็นท่อน ๆ ซึ่งในกองทัพของพวกนี้มีเนื้อคนขายด้วย ส่วนคนที่แข็งแรงและหน้าตาดี จะถูกนำไปขายเป็นทาส

วันที่ 15 กรกฏาคม 1099 (ชะอบาน ฮ.ศ. 492) พวกนี้ก็ยกทัพเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ให้ชาวเมืองคุกเข่าสวดอ้อนวอนพระเจ้าในความสำเร็จที่พวกครูเสดเข้ายึดเมืองได้ แล้วก็ฆ่าชาวเมืองอย่างทารุณ แม้แต่สถานที่ที่พระเยซูเคยอภัยศัตรูของพระองค์ ก็ไม่สามารถทำให้ครูเสดพวกนี้ลดความโหดเหี้ยมลงได้ เพราะพวกนี้ถือว่าการรบและฆ่าพวกนอกศาสนานั้นจะได้บุญและได้ขึ้นสวรรค์

พวกยิวในปาเลสไตน์ก็เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน โบสถ์และวิหารก็ถูกเผาทำลาย กอดเฟรย์แห่งบุยยอง ได้ถูกสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีก็เสียชีวิตลง น้องชายชื่อบอลด์วินได้รับตำแหน่งแทน และได้ยกทัพไปตีเมืองซีสะรีอา (Caesarea) ตริโปลี ซีดอน บัยรุต และยึดเมืองท่าต่าง ๆ ที่พวกโฟนิเซียนเคยเป็นเจ้าของมาก่อน

พวกครูเสดได้ครองส่วนใหญ่ของอาณาจักรของพวกสัลยูก (แต่ไม่ขยายตัวไปในอาณาจักรมุสลิมีนวงศ์อื่น ๆ ) พวกนี้จึงได้นำลัทธิเจ้าครองนคร(ฟิวดัลลิส์ม) มาใช้ มุสลิมีนที่มีฐานะเป็นทาสจะถูกจำตรวนเดินตามถนน อาณาจักรของสัลยูกช่วงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของพวกครูเสด จนถึง ปี ค.ศ. 1147 รวมเวลาประมาณ 50 กว่าปี


ภาพ:no2.jpg

สงครามครูเสดครั้งที่ 2

ลัทธิเจ้าครองนคร (Feudalism) ฟิวดัลลิสม์ ที่พวกครูเสดนำมาใช้ในเอเชียน้อย (Asia minor) ได้เผยแพร่เข้าไปสู่พวกสัลยูกเช่นกัน พวกนี่ต่างแก่งแย่งชิงอำนาจกัน จนแตกออกเป็นหลายนคร พวกที่ลี้ภัยสงครามครูเสดได้หนีไปกรุงแบกแดดเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นเป็นเดือนเรามะฎอน เคาะลีฟะฮของแบกแดด ซื่อ มุสตะซิร บิลลาฮ ( ปกครองตั้งแต่ ปี ค.ศ.1094 ถึง ปี ค.ศ.1118) ส่งผู้แทนไปยังสุลฎอน เพื่อขอความช่วยเหลือจาก บัรกี ยารูก (คือพวกสัลยูก เป็นบุตรคนที่ 2 ของมาลิกชาฮ ซึ่งเป็นคนขี้เมา นำความเสื่อมมาสู่วงศ์สัลยูก ปกครองปี ค.ศ.1094 ถึง ปี ค.ศ.1140 ) เพื่อยกทัพไปปราบครูเสด แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ปี ค.ศ. 1108 พวกมุสลิมในเมืองตริโปลี ส่งผู้แทนมาขอความช่วยเหลืออีกแต่ก็ไม่ได้ผล หลังจากนั้นอีก 3 ปี ชาวเมืองอเลปโปส่งผู้แทนออกมาขอความช่วยเหลืออีก หนนี้พวกเขาเข้าไปในมัสญิดและเร่งรัดให้เคาะลีฟะฮ ส่งกองทัพไปช่วย ทางแบกแดดจึงส่งทหารไปจำนวนหนึ่ง แต่ถูกพวกครูเสดฆ่าตายหมด

สมัยเคาะลีฟะฮ (วงศ์อับบาสิยะฮ) แห่งกรุงแบกแดด จึงปล่อยให้พวกครูเสดปกครองปาเลสไตน์และเอเชียน้อยบางส่วน เพราะปัญหาความแตกแยกและไม่สามัคคีในหมู่พวกเดียวกันของมุสลิม

ต่อมาสมัยเคาะลีฟะฮ อัล-มุกตะฟี (วงศ์อับบาสิยะฮ ปี ค.ศ.1136 1160) ชาวลัลยูกชื่อ อิมาดุดดิน ซังงี (Imaduddin Zangi) เป็นลูกชายของแม่ทัพสุลฏอนมาลิกซาฮ ชื่อ อักสังการ ฉายาว่า กอลิม อัดเดาละฮ เมื่ออักสังการเสียชีวิต ซังงีขณะนั้นอายุเพียง 14 ปีแต่มีความสามารถทางการทหารและการปกครองได้รวบรวมพล ฝึกทหาร และเข้าตีเมืองต่าง ๆ ใน ปี ค.ศ. 1128 ยึดเมืองอเลปโปคืนมาจากพวกครูเสดได้ ในขณะนั้นพวกครูเสดก็ได้รับการสนับสนุนจากยุโรปและกรีก โดยการนำของจักรพรรดิยอน คอมเนนุส (John Comnenus) ยึดเมืองบุซาอะ (Buzaa) ฆ่าพวกผู้ชาย แล้วกวาดต้อนผู้หญิงและเด็กไปเป็นทาส

ซังงีได้ยกกองทัพมาช่วยต้านทัพพวกครูเสดไว้ได้ และยึดเมืองเอเดสสา (Edessa) หรืออัรรูหะฮได้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1144 ตอนแรกซังงีคิดจะแก้แค้นให้พวกมุสลิมีนด้วยกัน แต่ก็ล้มเลิกความคิดและขอให้ชาวเมืองยอมแพ้ แต่กลับถูกพวกแฟรงค์เยาะเย้ย ถากถาง เขาจึงฆ่าทหารและพวกบาทหลวงที่เป็นตัวการในสงครามนี้ แต่ไว้ชีวิตผู้หญิง เด็ก และทรัพย์สินของพวกเขาเหล่านั้น แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ถูกพวกเดียวกันหักหลังโดยการลอบฆ่า เมื่อวันที่ 5 เราะบีอุษษานีย 541 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน ปี ค.ศ.1146

พวกสัลยูกได้สูญเสียนักรบชาติทหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนที่มีใจกล้าหาญ ชอบศึกษาและเผยแพร่ความรู้ ซังงีมีบุตร 4 คน ล้วนมีความสามารถทั้งสิ้น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากนี้ พวกคริสต์ในเมืองเอเดสสาได้เกิดคิดกบฏขึ้น ฆ่าทหารมุสลิมที่รักษาเมือง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพวกแฟรงค์ ภายใต้การนำของโยสเซลิน (Joscelin) ยึดเมืองเอเดสสาได้ แต่บุตรคนที่ 2 ของซังงีชื่อนูรุดดีน มะหมูด (Noradius) สามารถตีคืนมาได้ พวกอาร์มิเนียนที่เป็นต้นคิดการก่อกบฏ ได้ถูกเนรเทศออกจากประเทศ ทหารพวกแฟรงค์ถูกฆ่าและนูรุดดีนสั่งให้รื้อกำแพงเมือง

การสูญเสียเมืองเอเดสสาครั้งที่ 2 นี้ก่อให้เกิดการปลุกระดมให้พวกคริสเตียนหันมาป้องกันสถานกำเนิดแห่งศาสนาของตนโดยนักบุญเซ็นต์เบอร์นาร์ด ที่ได้ฉายาว่า ปีเตอร์-นักพรต คนที่ 2 พวกกษัตริย์ก็เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ถือเอาสงครามครูเสดเป็นฉากบังหน้า เพื่อปิดบังซ่อนเร้นการกระทำอันโหดร้ายต่อพลเมืองที่เป็นกบฏต่อพระองค์ กษัตริย์คอนราดที่ 3 แห่งเยอรมันก็เข้าร่วมทัพด้วย ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1147 มเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ชื่อ อิเลเนอร์ (Eleanor of Guienne) ซึ่งต่อมาได้สมรสกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ของอังกฤษ ได้เข้าร่วมกองทัพด้วย ทำให้ผู้หญิงฝรั่งเศสจำนวนมากอาสาออกรบด้วยอย่างมากมาย แต่กองทัพของกษัตริย์ทั้ง 2 ได้รับการต่อต้านและเสียหายอย่างหนัก ส่วนหนึ่งของกองทัพของกษัตริย์คอนราดถูกทำลายที่เมืองลาฎิกียะฮ (Laodicea หรือ Latakia) ส่วนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ยกทัพมาทางทะเลถูกโจมตีที่เมืองคัดมุส (Cadmus ) พวกตุรกีเรียกว่า บาบาดาฆ พวกครูเสดนั้นมีกำลังพลมาก จึงรอดเหลือมาถึงเมืองอันติออก ขณะนั้นเรย์มอง (ลุงของราชินีอีเลเนอร์)ปกครองอยู่ พวกขุนนาง อัศวินนักรบ และสตรีผู้สูงศักดิ์อื่น ๆพักอยู่ในเมืองจำนวนมาก พวกครูเสดจึงยกทัพเข้าล้อมเมือง ดามัสกัส แต่ไม่สำเร็จ เพราะนูรุดดีนและสัยฟุดดีน ฆอซี ( พี่ชายของนูรุดดีน ) ยกทัพมาช่วย กองทัพของกษัตริย์ทั้งสอง จึงได้เลิกทัพกลับยุโรป พวกครูเสดจึงรู้สึกท้อใจ และต้องล่าทัพกลับเมืองด้วยความผิดหวังและสูญเสียอย่างมาก

สงครามครูเสดครั้งที่ 3


เมื่อสองกษัตริย์และบรรดาสตรีแห่งฝรั่งเศสแตกทัพไป นูรุดดีนมุ่งตีพวกแฟรงค์ให้พ้นจากเอเชียน้อย โดยได้ยึดป้อมที่ชายแดนซีเรีย ชื่อ อัลอาริมา (Al Aareima) อีก 2 3 เดือนต่อมาเมืองซักรา (Zaghra) ติดกับเมืองอันติออก เสียหายอย่างหนัก ในสงครามติดพันริมกำแพงเมืองอันเนบ (Anneb) เจ้าชายเรย์มองแห่งอันติออก (ลุงของมเหสีพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ) ถูกฆ่า ลูกชายที่ชื่อ โบฮิมอง (ในภาษาอาหรับเรียกว่า ปิมินด์) เมียของเขาได้แต่งงานใหม่ ซึ่งสามีใหม่นี้ก็รบแพ้นูรุดดีนใน ฮ.ศ 544 (ปี ค.ศ. 1149- 1150) นูรุดดีนยึดเมืองอะปาเมียส์ได้ (ในภาษาอาหรับเรียกว่า อะฟามีอะฮ)


ปี ฮ.ศ 546 นูรุดดีนรบแพ้โยสเซลินที่ 2 แต่ต่อมานูรุดดีนเป็นฝ่ายรุกจนจับตัวโยสเซลินได้ (โยสเซลินเป็นผู้นำทัพของพวกแฟรงค์ที่เหี้ยมโหด) ซึ่งชาวมุสลิมถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นนูรุดดีนยกทัพเข้าตีเมืองดุลูก (Duluk) ของพวกครูเสดได้อีก


ในช่วงนั้นที่เมืองดามัสกัส มีปัญหาความยุ่งยากต่าง ๆ อยู่ นูรุดดีนได้ยกทัพไปช่วยยึดดามัสกัสไว้ เคาะลีฟะฮ ที่กรุงแบกแดดได้ประทานตำแหน่ง อัล-มาลิก-อัล-อาดิล-กษัตริย์ผู้ทรงธรรมแก่เขา ขณะนั้นการศึกสงครามสงบลงชั่วคราว เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวที่ซีเรีย นูรุดดีนจึงได้ซ่อมแซมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เมื่อเคาะลีฟะฮแห่งแบกแดดซื่อ อัลมุกตะฟีเสียชีวิต ลูกชายชื่อ อะบุลมุซัฟฟัร ยูสุฟ เข้ามารับตำแหน่งแทน โดยมีชื่อตามตำแหน่งว่า อัล-มุสตันญิด บิลลาฮ เป็นเคาะลีฟะฮ คนที่ 32 ของวงศ์อับบาสิยะฮ


หลังจากนั้นอีก 9 ปี ราชวงศ์ฟาฏิมิยะฮอ่อนแอ เคาะลีฟะฮองค์สุดท้ายชื่อ อัล-อาซิด ลิดดีนิลลาฮ ได้ล้มป่วย บ้านเมืองจึงอยู่ภายในมืออุปราชชื่อ ชาวัร อัสสะอดีย พวกขุนนางจึงคิดจะกำจัดชาวัร ชาวัรจึงหนีไปที่เมืองดามัสกัส ขอให้นูรุดดีนช่วย โดยสัญญาว่า เมื่อยึดอำนาจคืนมาได้ จะให้กองทัพอียิปต์ช่วยรบต้านพวกครูเสด นูรุดดีนจึงส่งกองทัพไปอียิปต์ โดยการนำของ อะสัดดุดดีน ชิรผมฮ (สิงห์แห่งภูเขา) ผู้เป็นลุงของเศาะลาหุดดีน แต่เมื่อชาวัรได้อำนาจคืนแล้ว กลับร่วมมือกับพวกแฟรงค์ขับชิรผมฮออกจากอียิปต์


ในเดือนเราะมะฎอน อ.ศ. 559 (สิงหาคม ปี ค.ศ. 1164) นูรุดดีนถูกกองทัพพวกแฟรงค์และกรีกโจมตีอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะนูรุดดีนได้ ถูกตีแตกพ่ายอย่างยับเยิน เจ้านครและนักรบต่าง ๆ ถูกจับเป็นเชลย นูรุดดีนสามารถยึดเมืองต่าง ๆ ได้อีก


ในเดือนเราะบีอุษษานีย ฮ.ศ. 562 (มกราคม กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1167) ชิรผมฮ ยกทัพไปอียิปต์ใหม่ ชาวัรได้พวกแฟรงค์มาช่วยไว้ หัวหน้าครูเสดชื่อ อะมอรี่ (Amaury) ที่อยู่เยรูซาเล็มได้ยกทัพไปช่วยชิรผมรฮ รบได้ชัยชนะ และได้ทำสัญญากันคือ อะมอรี่ตกลงถอนทหารออกจากอียิปต์ และสัญญาจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนี้อีก ชิรผมฮยอมถอนทหารออกจากอเล็กซานเดรีย โดยรับค่าทำขวัญเป็นทองห้าหมื่นแท่ง แต่ปรากฎว่าชาวัรได้ทำสัญญาลับกับพวกแฟรงค์ ให้มีกองทหารอยู่ที่ไคโร และเมืองท่าต่าง ๆ ได้ โดยชาวัรจ่ายทองปีละหนึ่งแสนแท่ง แต่ปรากฏว่าพวกครูเสดที่เข้าครองเมืองเหล่านี้หยาบช้าและทารุณจนชาวอียิปต์ทนไม่ได้

เคาะลีฟะฮผู้หนึ่ง ชื่อ อัล-อาซิด ลิดดีนิลลาฮ จึงส่งหนังสือขอความช่วยเหลือจากนูรุดดีน นูรุดดีนส่งชิรผมฮ มาอีกครั้งพร้อมทั้งกองกำลังอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อมาถึงชานเมือง พวกครูเสดก็ได้หลบหนีไปก่อนแล้ว พร้อมด้วยทรัพย์สินที่ปล้นจากชาวอียิปต์มา

วันที่ 8 มกราคม ปี ค.ศ.1169 ชิรผมฮ ได้ยกทัพเข้ากรุงไคโร เคาะลีฟะฮได้สำเร็จโทษชาวัร ตั้งชิรผมฮเป็นอุปราชแทน อีก 2 เดือนต่อมา ชิรผมฮเสียชีวิต และมีผู้รับตำแหน่งแทน ชื่อ อุโฆษ เศาะลาหุดดีน ซึ่งเป็นหลานชายของ ชิรผมฮ และขนานนามว่า อัลมาลิก อันนาศิร อัล-สุลฎอน เศาะลาหุดดีนยูสุฟ (เกิดที่เมืองตักรีต ที่ฝั่งแม่น้ำไตกริส ปี ค.ศ. 1138 เป็นพวกเคอร์ดิช เชื้อสายตุรกี บิดาชื่อนัจญ์มุดดีน อัยยูบ) ซึ่งผู้นี้ต่อมาได้เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ของมุสลิม ในขณะนั้นเคาะลีฟะฮ สุขภาพไม่แข็งแรง ได้ป่วยหนัก เศาะลาหุดดีน ผู้อยู่ในแนวหะนะฟียะฮอย่างเคร่งครัด จึงได้ประกาศอำนาจของเคาะลีฟะฮแห่งแบกแดดเหนือดินแดนอียิปต์ เมื่อถึงเวลานมาซญุมุอะฮก็ให้ออกนามเคาะลีฟะฮของแบกแดดแทน เพราะวงศ์ฟาฏิมิยะฮแห่งอียิปต์เป็นชีอะฮ


ปี ค.ศ. 1170 เคาะลีฟะฮอัลมุสตันญิดเสียชีวิต ลูกชายชื่อ อบูมุหัมมัด หะสัน รับตำแหน่งแทน มีนามว่า อัล มุสตะซิอิ บิ อัมริลลาฮ เป็นเคาะลีฟะฮองค์ที่ 33 ของวงศ์อับบาสิยะฮ

vในปีเดียวกันนี้ ลูกชายคนที่ 3 ของซังงี ชื่อ กุตบุดดีน เมาดูด เสียชีวิต และมีลูกชายชื่อ สัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 ขึ้นครองตำแหน่งแทน ในตอนนี้สภาวะทางการเมืองของโมสุล เกิดความวุ่นวายขึ้น นูรุดดีนก็ได้ยกทัพมาช่วยเหลือหลานชาย ต่อมาในเดือนมุหัรร็อม ฮ.ศ. 567 เคาะลีฟะฮผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงนักของอียิปต์ก็ได้เสียชีวิต เศาะลาหุดดีนจึงได้เป็นอุปราชของนูรุดดีน และได้ปกครองดินแดนอียิปต์ทั้งหมด


ในเดือนเชาวาล ฮ.ศ. 569 หรือในช่วง 15 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1174 นูรุดดีนได้เสียชีวิต เศาะลาหุดดีนจึงมีอำนาจเด็ดขาดในอียิปต์ หิจญาซและยะมัน แต่ยังขึ้นต่อพวกสัลยูกอยู่ นูรุดดีนมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า อิสมาอีล ได้นามตามตำแหน่งว่า อัล-มาลิกุศ-ศอลิห อายุ 11 ปี

เมื่อนูรุดดีนเสียชีวิต เศาะลาหุดดีนก็ได้ส่งบรรณาการไปยังอัลมาลิกุศศอลิห พวกขุนนางที่เคยมีอำนาจจึงวางท่ากีดกัน เพราะเห็นว่าลูกชายของนูรุดดีนนั้นยังมีอายุน้อยเกินไป เศาะลาหุดดีนได้ส่งหนังสือไปตักเตือนพวกขุนนางว่าถ้าไม่เชื่อฟังก็จะเข้ามาปกครองดามัสกัส ในขณะนั้นขุนนางชื่อ กุมุชตาจิน (Gumushtagin) พามาลิกุศศอลิห หนีไปเมืองอเลปโป ทำให้พวกแฟรงค์เข้ามาโจมตีเมืองได้อย่างสะดวก พวกครูเสดเองก็ได้ยกทัพเข้ามาล้อมเมือง และถอยทัพไปเมื่อได้รับค่าทำขวัญกันมาก ทำให้เศาะลาหุดดีนโกรธมากพอ จึงยกทัพเข้ายึดดามัสกัสไว้ แต่เขาไม่เข้าไปพักในสถานที่ของนูรุดดีน เพราะถือว่าเป็นเจ้านายเก่า และตัวเองเป็นเพียงอุปราชเท่านั้น จึงได้ไปพักที่บ้านพ่อและได้เขียนจดหมายถึงมาลิกุศศอลิห ว่าเขามาที่ดามัสกัสเพื่อป้องกันเมือง แต่พวกขุนนางที่เป็นศัตรูกับเขากลับตอบจดหมายกลับมาด่าว่าเขาอย่างรุนแรง ว่าเป็นคนเนรคุณ เขาจึงได้เดินทางไปเมืองอเลปโป เพื่อจะพบลูกชายของเจ้านายและจะได้ชี้แจง แต่กลับพบกับปฏิกิริยาที่ไม่เป็นมิตรจากลูกของเจ้านายและมิหนำซ้ำยังชักชวนชาวเมืองให้ต่อสู้กับเขา หาว่าเป็นคนเนรคุณ เศาะลาหุดดีนจึงต้องสู้รบจนพวกนี้ล่าถอยเข้าเมืองไป

มาลิกุศศอลิห ได้ขอความช่วยเหลือจากสัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 (Saifuddin Ghazi II) เศาะลาหุดดีนได้พยายามที่จะยืนยันความจงรักภักดีและยอมสละชีวิตเพื่อจะปกป้องบ้านเมือง แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการดูถูก เย้ยหยัน และระดมพวกครูเสดให้มาสู้รบกับเขา อย่างไรก็ตามเศาะลาหุดดีนก็ตีแตกพ่ายไป มาลิกุศศอลิหและสัยฟุดดีน ฆอซีที่ 2 ถูกตีพ่ายไปเช่นกันและเสียเมืองต่าง ๆ ทำให้มาลิกุศศอลิห ต้องยอมทำสัญญาสงบศึก โดยส่งลูกสาวคนเล็กซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ไปให้เศาะลาหุดดีน เศาะลาหุดดีนให้ความเอ็นดูเด็กคนนี้ จึงยอมทำสัญญากับวงศ์ของนูรุดดีน และมอบของกำนัลให้ สัญญาฉบับนี้ เขาได้ปกครองเมืองดามัสกัสอย่างเด็ดขาด เคาะลีฟะฮทางเมืองแบกแดดจึงตั้งให้เป็นสุลฏอน เจ้าเมืองผู้ครองนครต่าง ๆ พากันสวามิภักดิ์ต่อเขา เพราะเชื่อกันว่าเขาจะให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือเมื่อมีภัย เศาะลาหุดดีนจึงมีอิทธิพลเรื่อยมา

เมื่อกล่าวถึงพวกครูเสดในเยรูซาเล็ม ได้รับการสนับสนุนในเรื่องกำลังคน อาวุธและเสบียงจากทางยุโรปมากขึ้น มีทั้งพวกนักรบที่ต้องการชัยชนะ พวกที่ผจญภัยแสวงหาความร่ำรวย พวกคลั่งศาสนา พวกอาชญากรที่หนีคดี ต่างพากันมาที่ชายฝั่งซีเรีย ในขณะนั้นอะมอรี่เป็นผู้ครองเมืองเยรูซาเล็มได้เสียชีวิตลง ลูกชายชื่อบอล์ดวินที่ 4 ป่วยเป็นโรคเรื้อน พี่สาวของบอลด์วินชื่อสิบิลลา (Sybilla) มีลูกชายกับสามีเก่าชื่อว่าบอลด์วิน เช่นกัน ต่อมาสิบิลลาได้แต่งงานใหม่กับกาย เดอ ลุสิกนัน (Guy de Lusignan) บอลด์วินที่ 4 จึงตั้งให้พี่เขยคนนี้เป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ต่อมาเขาได้ตั้งเรย์มองเคานต์แห่งตริโปลีเป็นแทน และเขาได้คืนสมบัติให้กับหลานชายบอลด์วินที่ 5 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ต่อมาเมื่อเด็กคนนี้ตาย ผู้เป็นแม่จึงเป็นราชินีของเยรูซาเล็ม ในปี ค.ศ. 1189 เป็นต้นมา


ในสมัยบอลด์วินที่ 4 นั้นได้มีการทำสัญญาระหว่างพวกครูเสดกับเศาะลาหุดดีน ซึ่งชาวมุสลิมีนให้ความเคารพต่อสัญญาฉบับนี้ แต่พวกครูเสดถือเป็นแค่การพักรบชั่วคราวเท่านั้น ปี ค.ศ. 1189 พวกครูเสดที่ชื่อ เรโนด์ หรือเรยินัลแห่งชาติลอง ได้ปล้นคาราวานมุสลิมและฆ่าผู้คน ทำให้เศาะลาหุดดีนโกรธเป็นอย่างมาก จึงยกทัพไปแก้แค้น ผลการสู้รบพวกครูเสดตายนับหมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง กาย เดอ ลุสิกนัน ซึ่งเป็นสามีของสิบิลลาด้วย และเรโนด์แห่งชาติลอง ได้ถูกประหารชีวิตในฐานะผู้ที่ก่อเหตุแห่งส่งคราม หลังจากพวกครูเสดแตกทัพไป เศาะลาหุดดีนจึงได้มุ่งไปยึดเยรูซาเล็ม ซึ่งมีพลเมืองอยู่กันหนาแน่น มีทหารถึง 60,000 คน

ในครั้งนั้นเศาะลาหุดดีนได้บอกกับพวกนั้นว่า เขาตระหนักดีว่า เมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองของพระเจ้าและเขาก็ไม่ต้องการให้เปื้อนไปด้วยเลือด ขอให้เลิกสู้รบกัน แล้วเขาจะแบ่งทรัพย์สินและที่ดินให้ทำการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ แต่สิ่งที่ได้รับคือคำดูถูก เยาะเย้ยจากพวกครูเสดอีก ทำให้นักรบผู้กล้าหาญอย่างเขาแค้นเคืองเป็นอย่างมาก เขาจึงสาบานว่าจะแก้แค้นให้กับชาวมุสลิมีนทั้งหลายที่ถูกฆ่าและทารุณกรรมจากกอดเฟรย์แห่งบุยยอง


เมื่อช่วงแรกที่ยกทัพเข้าตีพวกครูเสด หลังจากที่ได้ล้อมเมืองไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้พวกครูเสดอ่อนกำลังลงอย่างมาก จึงขอความเมตตาจากเศาะลาหุดดีน ทำให้เขาใจอ่อนยอมให้พวกกรีกและพวกซีเรียคริสเตียนอยู่ในอาณาจักรโดยมีสิทธ์เหมือนพลเมืองทุกอย่าง ส่วนพวกทหารต้องกลับถิ่นฐานของตนเองพร้อมกับลูกเมียภายใน 40 วัน โดยให้ทหารของสุลฏอนคุ้มครองไปจนถึงเมืองตริโปลี และให้เสียค่าไถ่ตัวผู้ชาย 10 ดินาร์ หญิง 5 ดินาร์ เด็ก 1 ดินาร์ ซีเรีย ถ้าไม่มีจ่ายก็ต้องเป็นเชลย แต่มันเป็นเพียงกฎในสงครามยึดครองเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วเศาะลาหุดดีนได้ใช้เงินค่าไถ่ตัวคนพวกนี้กว่าหมื่นคน น้องชายของเขาก็ปล่อยเชลยให้เป็นอิสระถึง 7,000 คน พวกคนแก่ที่พวกคริสเตียนต้องแบกกลับ เขาก็จัดหาลาเป็นพาหนะให้และยังให้เงินช่วยอีกด้วย เมื่อพวกผู้หญิงที่ถูกปล่อยไปขอร้องให้เขาคืนสามี พ่อ และลูก ของพวกเธอเหล่านั้นด้วย เขาก็เกิดความสงสารและยินยอมให้ตามนั้น และยังได้บริจาคเงินช่วยเหลือเด็กกำพร้า และนักรบทั้งหลายที่เคยสู้รบกับเขาให้ได้รับการรักษาพยาบาล สิ่งนี้คือมนุษยธรรม ที่เศาะลาหุดดินแสดงต่อพวกครูเสด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพวกครูเสดที่เคยฆ่าฟันมุสลิมีน ทำร้ายและทารุณกรรมต่าง ๆ กับเด็ก และผู้หญิงชาวมุสลิมีน

เศาะลาหุดดีนมีความเคารพต่อศาสนสถานในเยรูซาเล็ม เขาไม่ยอมเข้าเมืองจนกว่าพวกครูเสดจะอพยพออกไปหมด และเมื่อเข้าไปแล้ว ในวันศุกร์ที่ 27 เดือนเราะญับ ฮ.ศ. 583 เขาได้ทำพิธีละหมาดที่นั่นด้วย ต่อมาพวกคริสเตียนที่ถูกปล่อยไปบางพวกได้รวบรวมกำลังคนย้อนกลับมาทำสงครามอีก แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะเศาะลาหุดดีนได้ แม้ว่าจะขอกำลังสนับสนุนจากทางยุโรปให้มาสมทบก็ตาม การทำสงครามกันจึงยืดเยื้อเรื่อยมา


นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1095 ที่สงครามครูเสดเริ่มขึ้น ดินแดนในเอเชียน้อยไม่เคยสงบสุขเลย พวกครูเสดจะยกทัพมาตีเมืองต่าง ๆ ที่อ่อนแออยู่ตลอดเวลา ซ้ำในบางครั้งมุสลิมด้วยกันก็เป็นศัตรูกันเอง จึงต้องทำสงครามกันตลอด

สงครามครูเสดครั้งที่ 4

เมื่อเศาะลาหุดดีนเสียชีวิตแล้ว ได้เกิดปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ จากลูก ๆ ของเขา เศาะลาหุดดีนมีลูกชาย 3 คนคือ อะลีย อุษมาน และฆอซี ต่างก็ได้รับสิทธิปกครองเขตแดนต่างกันไป รวมทั้งน้องชายของเศาะลาหุดดีนชื่อสัยฟุดดีน (ผู้ได้รับฉายาว่า อัล-มาลิก อัล-อาดีล เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถและชำนาญการรบไม่แพ้ผู้ใด) เมื่อลูก ๆ ของเศาะลาหุดดีนทะเลาะกัน สัยฟุดดีนจึงได้รวบอำนาจไว้ เมื่อพวกครูเสดยกทัพมาทางทะเลยึดเมืองบัยรุตได้ เป็นการทำลายสัญญาที่ทำไว้ในสมัยของเศาะลาหุดดีน สัยฟุดดีนจึงได้ยกกองทัพไปปราบพวกครูเสด และทำสัญญาสงบศึกอีก 3 ปี แล้วจึงยกกองทัพกลับ ในตอนต้น ๆ โป็ปเซเลสตีน (Celestine III) เป็นผู้ที่ยุให้เกิดสงครามครูเสด

สงครามครูเสดครั้งที่ 4

เมื่อเศาะลาหุดดีนเสียชีวิตแล้ว ได้เกิดปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ จากลูก ๆ ของเขา เศาะลาหุดดีนมีลูกชาย 3 คนคือ อะลีย อุษมาน และฆอซี ต่างก็ได้รับสิทธิปกครองเขตแดนต่างกันไป รวมทั้งน้องชายของเศาะลาหุดดีนชื่อสัยฟุดดีน (ผู้ได้รับฉายาว่า อัล-มาลิก อัล-อาดีล เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถและชำนาญการรบไม่แพ้ผู้ใด) เมื่อลูก ๆ ของเศาะลาหุดดีนทะเลาะกัน สัยฟุดดีนจึงได้รวบอำนาจไว้ เมื่อพวกครูเสดยกทัพมาทางทะเลยึดเมืองบัยรุตได้ เป็นการทำลายสัญญาที่ทำไว้ในสมัยของเศาะลาหุดดีน สัยฟุดดีนจึงได้ยกกองทัพไปปราบพวกครูเสด และทำสัญญาสงบศึกอีก 3 ปี แล้วจึงยกกองทัพกลับ ในตอนต้น ๆ โป็ปเซเลสตีน (Celestine III) เป็นผู้ที่ยุให้เกิดสงครามครูเสด